วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การให้บริการแนะแนวในโรงเรียน


การให้บริการแนะแนวในโรงเรียน

ความหมายของการแนะแนว

การแนะแนว หมายถึง ขบวนการที่ช่วยให้นักเรียนรู้จักตนเองและรู้ถึงแนวทางที่จะใช้ความสามารถ ความสนใจ และความถนัดของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมให้มากที่สุดและช่วยให้สามารถเผชิญความจริงได้อย่างกล้าหาญ สามารถใช้ตัดสินใจเลือกและวางแนวชีวิตในอนาคตของตนได้อย่างฉลาดและถูกต้อง    ในปัจจุบัน หลักสูตรของโรงเรียนมัธยมศึกษาเป็นหลักสูตรแบบกว้าง เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามถนัด ความสามารถ และความสนใจ ทั้งในปัจจุบันนี้มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย บริการแนะแนวจึงเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยให้นักเรียนรู้จักแก้ปัญหาทั้งปรับตนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

ความสำคัญของการแนะแนว

จุดหมายของการแนะแนว คือการป้องกันปัญหา แก้ไขพฤติกรรมทุกอย่างที่ผิดปกติและการพัฒนาให้ทุกคนไปสู่จุดหมายของชีวิตที่ต้องการ

ประโยชน์ที่จะได้รับจากบริการแนะแนว

1. ประโยชน์แก่ผู้ปกครองหรือบิดามารดา
1.1 ได้รับรู้และเข้าใจสถานภาพทางการเรียนของบุตรหลานของท่าน เมื่อท่านได้มีโอกาสปรึกษาหารือกับครูแนะแนว
1.2 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสที่บุตรหลานของท่านจะได้เรียนต่อหรือออกไปประกอบอาชีพ
1.3 รับรู้และเข้าใจสภาพปัญหาของเด็กวัยรุ่นเพื่อจะได้ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการปรับปรุงพฤติกรรมของบุตรหลานของท่านต่อไป
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน
2.1 ช่วยให้นักเรียนรู้จักตนเองดีขึ้นและสามารถปรับปรุงตนเองในด้านการเรียน สังคมอารมณ์และสติปัญญา
2.2 ช่วยให้นักเรียนตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างฉลาดและมีเหตุผล
2.3 ช่วยให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ปัญหาเพื่อสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายและอยู่ใสังคมอย่างมีความสุข
3. ประโยชน์แก่ครู
3.1 ช่วยครูให้เข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของปัญหารวมทั้งหาวิธีแก้ปัญหานั้น
3.2 ช่วยครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของนักเรียน
3.3 ช่วยครูในการศึกษานักเรียนทำให้รู้จักนักเรียนดีขึ้น
4. ประโยชน์แก่โรงเรียน
4.1 ช่วยโรงเรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของนักเรียน
4.2 ช่วยลดปัญหาต่าง ๆ เช่นปัญหานักเรียนเรียนไม่จบหลักสูตร หรือปัญหานักเรียนเรียนอ่อน หรือหนีเรียน เป็นต้น

ขอบข่ายของการแนะแนวการศึกษาในโรงเรียน

งานแนะแนวเป็นงานบริการที่มุ่งให้ความช่วยเหลือนักศึกษาในด้านการพัฒนาตนเองโดยนำเอาความสามารถที่ตนเองมีอยู่มาใช้ในการพิจารณาอย่างมีเหตุผล สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ตลอดจนรู้ถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุขในชีวิต การแนะแนวนั้นเกิดขึ้นมาจากปัญหาและความต้องการต่างๆอาจมีลักษณะสัมพันธ์กันจนแยกจากได้ยาก ซึ่งจะมีลักษณะปัญหา3 ประการ
1.การแนะแนวการศึกษา (Educational Guidance)
การแนะแนวการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่วันแรกของนักเรียนที่เข้าสู่สถานศึกษา และดำเนินไปจนถึงการสิ้นสุดการเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพและการศึกษาต่อในระดับสูง ประกอบด้วยกิจกรรม 2ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนด้านการเรียน คือ การให้ข้อสนเทศทางการเรียนการศึกษาต่อ การทำงานเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน การติดต่อขอรับทุนทางการศึกษาวารสารและหนังสือทางราชการแนะแนวทางการศึกษา ประการที่สอง การช่วยเหลื่อนักเรียนด้านการปรับตัว ส่งเสริมทางด้านสติปัญญา ตลอดจนความเข้าใจในเรื่องความสามารถของตนเองให้สามารถตัดสินใจเพื่อมุ่งความสำเร็จทางด้านการศึกษา ความสามารถทั่วไป ความถนัดเฉพาะ ค่านิยม การค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลและนักเรียนที่มีแนวโน้มของความเคลื่อนไหวด้านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
เพื่อให้นักเรียนได้รับข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการเรียนและสามารถเข้าใจคุณสมบัติของบุคคลที่จะศึกษาต่อและให้นักศึกษาสามารถปรับตนเองไห้เข้ากับการเรียนในแต่ละแผนการเรียน วางแผนทางการศึกษาและเลือกอาชีพได้อย่างเหมาะสม
2. การแนะแนวอาชีพ(Vocational Guidance)
การแนะเนวอาชีพเป็นการให้ความช่วยเหลือนักเรียนเกี่ยวกับการวางแผนและการตัดสินการเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพที่เหมาะสมกับความสามารถ ความถนัด ความสนใจและสภาพร่างกายของตน รวมทั้งเป็นการให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับสภาพและลักษณะของงาน คุณสมบัติที่จำเป็น การฝึกอบรมรายได้ สวัสดิการ ความมั่นคง ความก้าวหน้า สิ่งแวดล้อม ข้อดี ข้อเสีย การแสวงหางาน การสมัครงาน การปรับตัวให้เข้ากับงานและปฏิบัติตนให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
เพื่อให้ นักเรียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น และในโลกกว้างเพื่อให้ข้อมูลสารสนเทศแก่นักเรียนเกี่ยวกับอาชีพที่นักเรียนสนใจและเข้าใจในอาชีพนั้นๆอย่างลึกซึ้งและให้นักเรียนรู้จักวิธีการแสวงหางาน วิธีการสมัครงาน วิธีปรับตัวให้เข้ากับงานและวิธีการปฏิบัติตนให้มีความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน

3. การแนะแนวส่วนตัวและอาชีพ ( Personal – Social Guidance)
การแนะแนวส่วนตัวและสังคมเป็นการช่วยเหลือให้มีชีวิต หรือความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์ มีความเจริญทั้งร่างกายและจิตใจ มีความเข้าใจตนเอง มีอารมณ์ที่มั่นคง มีความสามารถที่ปรับตัวให้เข้ากับสังคมร่วมกันอย่างมีความสุข รู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นหรือสังคมได้ มีความสามารถในการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ทำให้การศึกษามีการพัฒนาตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะไม่เป็นบุคคลที่จะต้องดำเนินชีวิตด้วยตนเอง
เพื่อให้ นักเรียนสามารถวางแผนชีวิตให้สอดคล้องกับจุดหมายของตนเอง ให้ พัฒนาความสามารถของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เป็นไปในทางสร้างสรรค์ต่อการพัฒนาจุดหมายของชีวิต ให้นักศึกษามีความเจริญงอกงามในด้านความสามารถที่จะนำตนเองได้ และ เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจสภาพสังคมซึ่งจะเป็นผลทำให้สามารถปฏิบัติตนได้ดีขึ้นในสังคมและสามารถอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข

บริการแนะแนว 5 บริการ

1. งานสำรวจนักเรียนเป็นรายบุคคล (Individual Inventory Service) 
เป็นบริการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้รู้จักและเข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล อันจะเป็นแนวทางในการช่วยเหลือนิสิตในด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ ตลอดจนพัฒนานักเรียนในทุก ๆ ด้าน ข้อมูลในระเบียนสะสมควรมีรายละเอียดครอบคลุมข้อมูลด้านต่าง ๆ ของนักศึกษาเช่น ข้อมูลด้านส่วนตัว ข้อมูลทางครอบครัว ประวัติการศึกษา ข้อมูลด้านสังคมและสุขภาพ ข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลด้านการแนะแนวและการรับคำปรึกษาต่าง ๆ และข้อมูลที่ได้จากนักเรียนและจากหน่วยงานอื่น เป็นครั้งคราวเช่น ผลการเรียน เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเมื่อเกิดกรณีที่นักเรียนมีปัญหาและ
ความจำเป็นตลอดจนมีความต้องการความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วนก่อน
2.บริการสนเทศ (Information Service)
เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนา เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากบริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ตรงกับความต้องการ ในการส่งเสริม พัฒนา ตลอดจนแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
3.บริการให้คำปรึกษา ( Counseling Service) 
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นการศึกษาเพื่อตัดสินใจเลือกสาขาวิชาเรียนที่สอดคล้องกับความสามารถ และเป็นแนวทางในการตัดสินเลือกอาชีพที่ถนัดในอนาคต นักเรียนจึงต้องใช้ความพยายามทั้งกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจเพื่อการศึกษา ความยากลำบากดังกล่าวทำให้นักเรียนเกิดความวิตกกังวล เกิดความเครียดขึ้นได้ นอกจากปัญหาทางด้านการศึกษาแล้ว ความวิตกกังวลอันเนื่องจากสภาพการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน มีผลต่อสุขภาพจิตโดยรวมของนักศึกษาเช่นกัน ดังนั้น บริการให้คำปรึกษาจึงเป็นบริการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนได้สำรวจตนเอง เข้าใจตนเอง จนสามารถลงมือปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถตัดสินใจอย่างฉลาด มีทักษะในการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ทำให้เป็นคนดี คนเก่ง
คนมีความสุขและคนมีประโยชน์ โดยจะจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาทั้งรายบุคคล (Individual Counseling) และรายกลุ่ม (Group Counseling) ทั้งในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ ส่วนตัวและ สังคม
ขอบข่ายของบริการให้คำปรึกษา
1. บริการให้คำปรึกษาด้านการศึกษา
2. บริการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ
3. บริการให้คำปรึกษาด้านส่วนตัวและสังคม
4. บริการพัฒนานักศึกษา
5. บริการทางวิชาการ
4.บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service)
บริการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำเนินการตามที่ตัดสินใจเลือกไว้ เช่น ได้เรียนในวิชาหรือประกอบอาชีพที่เลือกไว้ เป็นต้น
5. งานติดตามผล (Follow-up Service) 
เป็นบริการที่มีจุดมุ่งหมายในการประเมินผล และติดตามผลของการให้บริการแนะแนวทั้ง 4 บริการข้างต้น เพื่อปรับปรุงให้บริการนั้น ๆ มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา ซึ่งจะจัดในรูปแบบของการสำรวจความคิดเห็น การสัมภาษณ์ การสอบถาม ฯลฯ